วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

จริยธรรมในการใช้สื่อสังคมออนไลน์

คุณธรรมและจริยธรรมในการใช้อินเทอร์เน็ต + คุณธรรมและจริยธรรมในการใช้คอมพิวเตอร์

โทษของอินเทอร์เน็ต มีหลากหลายลักษณะ ทั้งที่เป็นแหล่งข้อมูลที่เสียหาย, ข้อมูลไม่ดี ไม่ถูกต้อง, แหล่งประกาศซื้อขาย ของผิดกฏหมาย, ขายบริการทางเพศ ที่รวมและกระจายของไวรัสคอมพิวเตอร์ต่างๆ

โรคติดอินเทอร์เน็ต (Webaholic) เป็นอาการทางจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งนักจิตวิทยาชื่อ Kimberly S Young ได้ศึกษาและวิเคราะห์ไว้ว่า บุคคลใดที่มีอาการดังต่อไปนี้ อย่างน้อย 4 ประการ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี แสดงว่าเป็นอาการติดอินเทอร์เน็ต

     เทคโนโลยีที่ทันสมัย แม้จะช่วยอำนวยความสะดวกได้มากเพียงใดก็ตาม สิ่งที่ต้องยอมรับความจริงก็คือ เทคโนโลยีทุกอย่างมีจุดเด่นและข้อด้อยของตนทั้งสิ้น ทั้งที่มาจากตัวเทคโนโลยีเอง และมาจากปัญหาอื่นๆ เช่น บุคคลที่มีจุดประสงค์ร้าย
 ในโลก cyberspace อาชญากรรมคอมพิวเตอร์เป็นปัญหาหลักที่นับว่ายิ่งมีความรุนแรง เพิ่มมากขึ้น ประมาณกันว่ามีถึง 230% ในช่วงปี 2002 และแหล่งที่เป็นจุดโจมตีมากที่สุดก็คือ อินเทอร์เน็ต นับว่ารุนแรงกว่าปัญหาไวรัสคอมพิวเตอร์เสียด้วยซ้ำ
หน่วยงานทุกหน่วยงานที่นำไอทีมาใช้งาน จึงต้องตระหนักในปัญหานี้เป็นอย่างยิ่ง จำเป็นต้องลงทุนด้านบุคลากรที่มีความ
เชี่ยว ชาญด้านการรักษาความปลอดภัย ระบบซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ที่มีประสิทธิภาพ การวางแผน ติดตาม และประเมินผลที่ต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง แต่ไม่ว่าจะมีการป้องกันดีเพียงใด ปัญหาการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ก็มีอยู่เรื่อยๆ ทั้งนี้ระบบการโจมตีที่พบบ่อยๆ

คุณธรรมและจริยธรรมในการใช้งานอินเตอร์เน็ต


        ในสังคมอินเทอร์เน็ตนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดีเช่นเดียวกับสังคมทั่วไป ผุ้ใช้ที่ไม่ระมัดระวังจึงอาจถูกล่อลวงไปในทางที่ผิดหรือก่อให้เกิดอันตราย ได้ ฉะนั้น วิธีหนึ่งที่จะป้องกันเยาวชนไทยจากปัญหาเหล่านี้ก็คือ การให้เยาวชนรู้จักกับศิลปป้องกันตัวในอินเทอร์เน็ต

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตควรจะรู้และยึดถือปฏิบัติ ดังนี้


        1. ไม่บอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ชื่อ โรงเรียนของตนให้แก่บุคคลอื่นที่รู้จักกันทางอินเทอร์เน็ต โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองก่อน
        2. หากพบข้อความหรือรูปภาพใดๆ บนอินเทอร์เน็ตที่มีลักษณะหยาบคายหรือไม่เหมาะสม ควรแจ้งให้ผู้ปกครองทราบทันที
        3. ไม่ควรไปพบบุคคลใดก็ตามที่รู้จักกันทางอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ผู้ปกครองก่อน และหากผู้ปกครองอนุญาต ก็ควรไปพร้อมกับผู้ปกครอง โดยควรไปพบกันในที่สาธารณะ
        4. ไม่ส่งรูปหรือสิ่งใดๆ ให้บุคคลที่รู้จักทางอินเทอร์เน็ต โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองก่อน
        5. ไม่ตอบคำถามหรือต่อความกับผู้ที่สื่อข้อความหยาบคาย และต้องแจ้งให้ผู้ปกครองทราบทันที
        6. ควรเคารพต่อข้อต่อลงในการใช้อินเทอร์เน็ตที่ให้ไว้กับผู้ปกครอง เช่น กำหนดระยะเวลาในการใช้อินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ที่ผู้ปกครองอนุญาตให้เข้าได้

คุณธรรมจริยธรรมในการใช้อินเตอร์เน็ต


1. ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ทำร้ายผู้อื่น
2. ไม่รบกวนจนงานคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น3. ไม่แอบดูแฟ้มข้อมูลของผู้อื่น4. ไม่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อลักขโมย5. ไม่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเป็นพยานเท็จ6. ไม่ใช้หรือทำสำเนาซอฟต์แวร์ที่ตนไม่ได้ซื้อสิทธิ์
7. ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยไม่มีอำนาจหน้าที่
8. ไม่ฉวยเอาทรัพย์ทางปัญญาของผู้อื่นมาเป็นของตน
9. คิดถึงผลต่อเนื่องทางสังคมของโปรแกรมที่เขียน
10. ใช้คอมพิวเตอร์ในทางที่แสดงถึงความใคร่ครวญและเคารพ

จริยธรรมในการใช้ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์


1. ไม่โฆษณาหรือเสนอขายสินค้า
2. รู้ตัวว่ากำลังกล่าวอะไร
3. ถ้าไม่เห็นด้วยกับหลักพื้นฐานของรายชื่อกลุ่มที่ตนเป็นสมาชิก ก็ควรออกจากกลุ่มไม่ควรโต้แย้ง
4. คิดก่อนเขียน
5. อย่าใช้อารมณ์
6. พยายามอ่านคำถามที่ถามบรอย (FAQ) ก่อนเสมอ
7. ไม่ส่งข่าวสารที่กล่าวร้าย หลอกลวง หยาบคาย ข่มขู่
8. ไม่ส่งต่อจดหมายลูกโซ่ หรือเมล์ขยะ
9. ถ้าสงสัยไม่ทำดีกว่า
10. รู้ไว้ด้วยว่าสำหรับผู้เขียน คือ บันทึกฉันท์เพื่อน แต่สำหรับผู้รับ คือ ข้อความที่จารึกไว้บนศิลาจารึก
11. ให้ความระมัดระวังกับคำเสียดสี และอารมณ์ขัน
12. อ่านข้อความในอีเมล์ ให้ละเอียดก่อนส่ง ความประณีตและตัวสะกด การันต์ เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง
13. ดูรายชื่อผู้รับให้ดีว่า เขาคือคนที่เราตั้งใจจะส่งไปถึง



ที่มา http://www.youtube.com/watch?v=yTt3Xa-8LZo

การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ความเป็นส่วนตัวหรือ “Privacy” เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ที่สังคมยุคใหม่เกือบทุกประเทศให้ความ สำคัญอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการรับรองหลักการดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือแม้บางประเทศจะไม่ได้บัญญัติรับรองไว้โดยตรง ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ได้ตราบทบัญญัติรับรองไว้ในกฎหมายเฉพาะ

ความเป็นส่วนตัว (Privacy)


ในบรรดาสิทธิที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนทั้งหมด ความเป็นส่วนตัวนับเป็น สิทธิลักษณะหนึ่งที่ยากที่สุดในการบัญญัติความหมาย เพราะต้องพิจารณาเนื้อหา สภาพสังคม วัฒนธรรม และพฤติการณ์แวดล้อมประกอบด้วย ในบางประเทศแนวคิดของ ความเป็นส่วนตัวได้รวมถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการตีความคำว่า ความเป็นส่วนตัวในด้านการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม คำว่า ความเป็นส่วนตัวเป็นคำที่มีความหมายกว้างและครอบคลุมถึงสิทธิต่างๆ หลายประการ อาทิ
(1) ความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับข้อมูล (Information Privacy) เป็นการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บรวบรวมและการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล
(2) ความเป็นส่วนตัวในชีวิตร่างกาย (Bodily Privacy) เป็นการให้ความคุ้มครองในชีวิตร่างกายของบุคคลในทางกายภาพที่จะไม่ถูกดำเนินการใดๆ อันละเมิดความเป็นส่วนตัว อาทิ การทดลองทางพันธุกรรม การทดลองยา เป็นต้น
(3)ความเป็นส่วนตัวในการติดต่อสื่อสาร (Communication Privacy)  เป็นการให้ความคุ้มครองในความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวในการติดต่อสื่อสารทางจดหมาย โทรศัพท์ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการติดต่อสื่อสารอื่นใด ที่ผู้อื่นจะล่วงรู้มิได้
(4)ความเป็นส่วนตัวในเคหสถาน (Territorial Privacy) เป็นการกำหนดขอบเขตหรือข้อจำกัดที่บุคคลอื่นจะบุกรุกเข้าไปในสถานที่ส่วนตัวมิได้ ทั้งนี้ รวมทั้งการติดกล้องวีดิโอ และการตรวจสอบรหัสประจำตัวบุคคล (ID checks)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ความเป็นส่วนตัวจะมีหลายประการ แต่ความเป็นส่วนตัวที่นานาประเทศต่างให้ความสำคัญอย่างมากอันเนื่องจากพัฒนาการทาง เทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว คือ ความเป็นส่วนตัวในข้อมูลส่วนบุคคลทั้งนี้ เพราะพัฒนาการล้ำยุคของคอมพิวเตอร์ส่งผลให้การติดต่อสื่อสารและการเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ สามารถเคลื่อนย้ายและเชื่อมโยงกันได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่อีกต่อไป ทำให้การประมวลผล จัดเก็บ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลสามารถทำได้โดยง่าย สะดวก และรวดเร็ว ในทางกลับกันจึงอาจมีการนำประโยชน์ของเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้โดยละเมิดต่อบุคคลอื่น

การยอมรับแนวคิดของ ความเป็นส่วนตัวเกิดขึ้นมานาน อาทิ ในพระคัมภีร์ ไบเบิลได้มีเนื้อความหลายส่วนที่กล่าวถึงความเป็นส่วนตัว กฎหมายของ ชาวยิว (Jewish law) กรีก (Classical Greece) หรือจีน (ancient China) ได้ยอมรับแนวคิดของความเป็นส่วนตัวไว้เช่นกัน  แต่แนวคิดเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวที่ได้รับการยอมรับและมีการอ้างอิงถึงอย่างแพร่หลาย คือ แนวคิดความเป็นส่วนตัวของ Samuel D. Warren และ Louis D. Brandeis ในปี ค.ศ. 1890 ซึ่งได้อธิบายว่า ความเป็นส่วนตัว หมายถึง สิทธิที่จะอยู่โดยลำพัง” (the right to be let alone) โดยถือเป็นแนวคิดในเชิงกฎหมายในช่วงเริ่มแรก แต่ต่อมาเมื่อ เกิดพัฒนาการทางเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการติดต่อสื่อสารผ่านระบบเครือข่าย ทำให้แนวคิดที่ว่า ความเป็นส่วนตัวหมายถึง สิทธิที่จะอยู่โดยลำพัง” (the right to be let alone) นั้น ไม่เพียงพอ เพราะการละเมิดความเป็นส่วนตัวสามารถทำได้โดยง่าย ดังนั้น จึงได้มีความพยายามบัญญัติความหมายของคำว่าความเป็นส่วนตัวให้สอดคล้องกับสังคมยุคใหม่ โดย Alan F. Westin ซึ่งได้ให้ความหมายของคำว่า ความเป็นส่วนตัวไว้ในหนังสือ “Privacy and Freedom” โดยหมายถึง สิทธิของแต่ละบุคคล กลุ่ม หรือองค์กรในการตัดสินใจว่า ข้อมูลข่าวสารของตนเองนั้นจะถูกเปิดเผยต่อบุคคลอื่น เมื่อใด อย่างไร และมีขอบเขตมากน้อยเพียงใด” (the claim of individuals, groups and institutions to determine for themselves, when, how and to what extent information about them is communicated to others) ปัจจุบันแนวคิดนี้ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางแม้ว่ายังเป็นประเด็นที่ยังไม่ยุติว่า ความเป็นส่วนตัวของ กลุ่มหรือองค์กรควรได้รับการคุ้มครองด้วยหรือไม่ก็ตาม

การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล


1. เหตุผลและความจำเป็นในการตรากฎหมาย
                แม้ว่าปัจจุบันจะมีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเก็บข้อมูล หรือให้บริการต่างๆ มากขึ้น แต่ผู้ให้บริการแต่ละรายจะมีวิธีการหรือมาตรการในการเก็บรักษา ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลที่แตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท เช่น บริษัทที่ให้บริการ โทรศัพท์แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เปลี่ยนรูปแบบการชำระค่าบริการรายเดือนเป็นการโอนเงินแบบออนไลน์ โดยจะมีนโยบายของบริษัทกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น จะไม่นำข้อมูลที่กรอกซึ่งมีลักษณะเป็น customer identifiable information จากที่ลงทะเบียนไปขาย แลกเปลี่ยน หรือให้บุคคลที่สาม เพื่อให้ผู้ใช้บริการไว้วางใจและใช้บริการเพิ่มขึ้น

                อย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านั้นเป็นสิ่งที่แต่ละบริษัทกำหนดขึ้นเอง เพราะฉะนั้นบางบริษัทก็อาจไม่มี หรือมีแต่ไม่รักษาวินัยในการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งส่งผลให้เกิดการละเมิดหรือนำไปใช้ในทางมิชอบมากขึ้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้ (โดย พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)


แนวทางการพัฒนาคุ้มครองความเป็นส่วนตัว


ความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล


–    ข้อมูลส่วนตัว ควรจะได้รับการตรวจสอบก่อนจะนำเข้าสู่ฐานข้อมูล
–    ข้อมูลควรมีความถูกต้องแม่นยำ และมีความทันสมัย
    แฟ้มข้อมูลควรทำให้บุคคลสามารถเข้าถึง (ข้อมูลของตน) และตรวจสอบความถูกต้องได้

ความลับของข้อมูล


–    ควรมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลบุคคล ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเทคนิค และการบริหาร
–    บุคคลที่สามไม่สมควรได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลโดยปราศจากการรับรู้หรืออนุญาตของเจ้าของ ยกเว้นโดยข้อกำหนดของกฎหมาย
–   ข้อมูลไม่ควรถูกเปิดเผยด้วยเหตุผลที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการเก็บข้อมูล


อ้างอิง 
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7

การจัดการคุณภาพของซอฟต์แวร์

คุณภาพของซอฟแวร์ (Software Quality)  หมายถึง ระดับที่ผลิตภัณฑ์ซอฟแวร์สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ซอฟแวร์ได้ โดยจะต้องมีคุณลักษณะที่ซอฟแวร์ใดๆ ควรจะมี หากซอฟแวร์มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไข ก็จะเรียกว่าเป็น ซอฟแวร์ที่มีคุณภาพ

การจัดการคุณภาพของซอฟแวร์ (Software Quality Management)  คือ การระบุวิธีการกำหนดคุณลักษณะของซอฟแวร์ที่มีคุณภาพ วิธีการวัดคุณภาพ และปรับปรุงคุณภาพของกระบวนการพัฒนาซอฟแวร์ โดยมีต้นทุนของคุณภาพ ประกอบไปด้วย

1. ต้นทุนการป้องกัน (Prevention Cost) เป็นค่าใช้จ่ายที่ใช้ป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความบกพร่องในการควบคุมคุณภาพ
2. ต้นทุนในการประเมิน (Appraisal Cost) เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการตรวจสอบ หรือวัดเพื่อประเมินคุณภาพซอฟแวร์
3. ต้นทุนของความผิดพลาดภายใน (Internal Failure Cost) เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการผิดพลาดทางการผลิต
4. ต้นทุนของความผิดพลาดภายนอก (External Failure Cost) เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความผิดพลาดหลังส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้า เช่น บริการหลังการขาย

ระบบวิกฤติ (Critical System) หมายถึง ระบบที่มนุษย์หรือธุรกิจต้องพึ่งพาอาศัยการทำงานของระบบเป็นหลัก หากระบบวิกฤติล้มเหลว จะทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงและความเสียหายอย่างมาก ยกตัวอย่างระบบวิกฤติ เช่น ระบบควบคุมการบิน ระบบเตือนเมื่อเกิดไฟไหม้ ระบบถุงลมนิรภัย ระบบควบคุมจราจรทางอากาศ ระบบเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น การทำงานของระบบเหล่านี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้ใช้ และธุรกิจการค้าอย่างมาก ต้นทุนที่ใช้พัฒนาสูง หากเกิดการผิดพลาดกับระบบวิกฤติ จึงนับว่ามีความร้ายแรงตามไปด้วย
มีการกำหนดคุณลักษณะของระบบวิกฤติ 5 ประการคือ
1. พึ่งพาได้ (Dependability)
2. เชื่อถือได้ (Reliability)
3. พร้อมใช้งานเสมอ (Availability)
4. ปลอดภัย (Safety)
5. มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัย (Security)

สาเหตุที่ทำให้ระบบวิกฤติทำงานล้มเหลวมีดังนี้
1. ความล้มเหลวของฮาร์ดแวร์ระบบ (System Hardware)
2. ความล้มเหลวของซอฟแวร์ระบบ (System Software)
3. ความล้มเหลวของผู้ควบคุมระบบ (Human Operator)

ประเภทของระบบวิกฤติ


1. Safety Critical System เป็นระบบวิกฤติที่มีความปลอดภัยเป็นคุณสมบัติหลัก ระบบวิกฤติประเภทนี้ หากเกิดความล้มเหลว อาจทำให้เกิดอันตรายกับมนุษย์ หรือสร้างความเสียหายแก่สภาพแวดล้อมอื่นของระบบ
2. Mission Critical System เป็นระบบวิกฤติที่เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว อาจทำให้เป้าหมายการดำเนินธุรกิจในระยะยาวล้มเหลวไปด้วย เช่น ระบบพยากรณ์ ระบบจัดการทรัพยากร เป็นต้น
3. Business Critical System เป็นระบบวิกฤติที่เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว อาจทำให้เป้าหมายการดำเนินธุรกิจในระยะสั้นล้มเหลวไปด้วย  โดยอาจทำให้ธุรกิจต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เช่น ระบบธนาคารรายย่อย ระบบลูกค้าสัมพันธ์ เป็นต้น



อ้างอิง :  อ.ชนิดา เรืองศิริวัฒนกุล หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์


ความหมายของทรัพย์สินทางปัญญา

ทรัพย์สินทางปัญญา  หมายถึง สิทธิทางกฎหมายที่ให้เจ้าของสิทธิ หรือ "ผู้ทรงสิทธิ" มีอยู่เหนือสิ่งที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ทางปัญญาของมนุษย์ โดยอาจแบ่งทรัพย์สินทางปัญญาออกได้ 2 ประเภทหลัก คือ
1.ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม
2.ลิขสิทธิ์ สำหรับทรัพย์สินทางอุตสาหกรรมยังแบ่งออกได้อีก 5 ประเภท ได้แก
                (1) สิทธิบัตร
                (2) เครื่องหมายการค้า
                (3) แบบผังภูมิของวงจรรวม
                (4) ความลับทางการค้า
                (5) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

ทรัพย์สินทางปัญญาในความหมายอย่างกว้าง หมายถึง การสร้างสรรค์ทางปัญญาของมนุษย์ซึ่งแสดงออกในรูปแบบใดก็ตามทรัพย์สินทางปัญญานี้อาจเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น ความคิด แนวคิด กรรมวิธี หรือทฤษฎี ทรัพย์สินทางปัญญายังอาจปรากฏในรูปแบบที่จับต้องได้ เช่นการประดิษฐ์ สินค้า หรือสื่อรูปแบบอื่นที่จับต้องได้ นอกจากนี้ ทรัพย์สินทางปัญญายังอาจรวมถึงความรู้ การค้นพบ หรือการสร้างสรรค์อีกด้วย จะเห็นได้ว่า ความหมายอย่างกว้างของทรัพย์สินทางปัญญานี้เน้นที่ผลผลิตของสถิตปัญญาและความชำนาญของมนุษย์ โดยไม่ได้คำนึงถึงชนิดของการสร้างสรรค์หรือวิธีการสร้างสรรค์หรือวิธีการในการแสดงออกแต่อย่างใด

ทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย 

ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาสำคัญ ๆ ว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเกือบทุกประเทศในโลกเป็นสมาชิก เช่น อนุสัญญากรุงเบิร์น (Berne Convention) ความตกลง TRIPs (Agreement on Trade - Related Aspects of Intellectual Property Rights) WTO และ GATT เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยได้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องและเป็นไปตามอนุสัญญาหรือความตกลงดังกล่าวเรื่อยมา
ประเทศไทยมีกฎหมายให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้วสองครั้งโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 พระราชบัญญัติคุ้มครองแบบผังภูมิของวงจรรวม พ.ศ. 2543 เป็นต้น

เหตุผลในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา


ระบบของทรัพย์สินทางปัญญาให้ความคุ้มครองที่กว้างขวาง ผู้ทรงสิทธิสามารถใช้การเยียวยาความเสียหายได้ในทางแพ่ง หรือใช้กระบวนการทางอาญา หรือมาตรการทางบริหารที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันได้ ในกระบวนการทางการแพ่งนั้นผุ้ทรงสิทธิสามารถเรียกร้องให้มีการเยียวยาทางการเงิน เช่น ค่าเสียหาย หรือเรียกให้ผู้ละเมิดกระทำการ หรือละเว้นการกระทำ อาทิ ให้หยุดแจกจ่ายสินค้าที่ละเมิด การดำเนินคดีทางอาญาเป็นการที่โจทก์เรียกร้องให้ลงโทษทางอาญาแก่จำเลย เช่น จำคุก หรือปรับ ในบางระบบกฎหมายอาจบัญญัติให้มีมาตรการทางบริหารเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ หรือเพื่อแก้ไขขั้นตอนที่ผิดพลาดได้ เช่น การเพิกถอนการจดทะเบียนเป็นต้น
การคุ้มครองตามกฎหมายเกิดจากแนวความคิดในเรื่องความยุติธรรมตามธรรมชาติและผล
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของบุคคล เป็นที่ยอมรับกันว่าผู้สร้างสรรค์งานเป็นผู้มีสิทธิ์โดยชอบที่จะได้ประโยชน์จากความอุตสาหของตน ในทางกลับกันผู้ซึ่งเก็บเกี่ยวจากสิ่งซึ่งไม่ใช่ผลอันเกิดจากแรงงานของตนจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงสิทธิ การมใช้โดยผู้ละเมิดถือว่าเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจแก่ผู้ทรงสิทธิ เนื่องจากผู้ทรงสิทธิไม่ได้รับค่าตอบแทนซึ่งเขาควรจะได้รับจากการใช้โดยมิได้รับอนุญาต ภายใต้หลักความเสี่ยงธรรม ระบบการคุ้มครองถูกบัญญัติขึ้นเพื่อให้ผู้ละเมิดที่มิได้รับอนุญาตต้องจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้ทรงสิทธิในการละเมิด ตามแนวคิดนี้วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามุ่งสนับสนุนการสร้างสรรค์และให้ความยุติธรรมแก่บุคคลผู้สมควร ในเวลานั้นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเพียงประเด็นภายในประเทศ ผลกระทบที่ใช้นำมาพิจารณาและมาตรการเยี่ยวยาความเสียหายโดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของบุคคลทั้งนี้ ไม่ได้คำนึงถึงประเด็นในระดับชาติหรือสากลแต่อย่างใด

ในยุคสมัยต่อมา เห็นว่ามีความเกี่ยวพันกันระหว่างการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและประโยชน์ของชาติ ประเด็นของทรัพย์สินทางปัญญานำมาเกี่ยวกับประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญาเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นของสินค้าและบริการฉะนั้น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่เพียงพออาจเพิ่มขอบการแข่งขันนอกกฎหมายและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับสินค้าคู่แข่ง เพราะไม่ได้รวมค่าวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการนั้น สถานการณ์นี้จึงถูกอ้างว่าเป็นสาเหตุแห่งการบิดเบือนทางการค้า ประเทศซึ่งเผชิยหน้าหรือกำลังเผชิญหน้ากับผลกระทบทางเศรษฐกิจจึงร้องขอประเทศคู่ค้าของตนในการให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประมีประสิทธิภาพและเพียงพอ มิฉะนั้นจะมีมาตรการตอบโต้ทางการค้าตอบแทน มาตรการกระทำโดยฝ่ายเดียวและตามความสมัครใจ แต่ก็ได้ผลในบางกรณีเนื่องจากยังไม่มีกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศซึ่งครอบคลุมถึงเรื่องนี้โดยตรง ประเทศผู้ส่งออกต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ในการส่งออกของตนกับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อที่จะตัดสินใจวางนโยบายว่าจะพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศหรือไม่

ความสำเร็จในการก่อตั้งองค์กรการค้าโลก (WTO) เป็นพัฒนาการล่าสุดของกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศในการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเจรจาแกตต์ (GATT) รอบอุรุกวัยได้มีการบรรจุระเบียบวาระเรื่องการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ประเด็นนี้ถูกเสนอโดยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมซึ่งมีประโยชน์ในทางเศรษฐกิจมากในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กลุ่มประเทศเหล่านี้ตระหนักว่ากฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในความตกลงระหว่างประเทศที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากไม่มีมาตรการบังคับในกรณีที่ประเทศสมาชิกไม่สามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ได้ หากประเด็นในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวพันกับประเด็นในเรื่องการค้าระหว่างประเทศโดยการนำเอากระบวนการระงับข้อพิพาทมาใช้การคุ้มครองทรัพยืสินทางปัญญาในระดับโลกก็จะเป็นจริง เนื่องจากเศรษฐกิจของแต่ละประเทศต่างก็ขึ้นอยู่กับการส่งออกสินค้าและบริการ การท้าทายกฎกณฑ์ระหว่างประเทศใหม่นี้อาจนำมาซึ่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจการส่งออกของประเทศ กลไกลใหม่ซึ่งผูกการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเข้ากับการค้าระหว่างประเทศ คือ ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า หรือ TRIPs ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) ในส่วนอารัมภบทของ TRIPs สะท้อนให้เห็นความเกี่ยวพันนี้ว่า

"ปรารถนาที่จะลดการบิดเบือนและอุปสรรคที่มีต่อการค้าระหว่างประเทศและคำนึงถึงความจำเป็นที่จะส่งเสริมให้มใการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ และเพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการและขั้นตอนการบังคับสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้าโดยชอบ…"

ดังนั้น เหตุในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจึงมีการพัฒนาขึ้น การคุ้มครองซึ่งเดิมเห็นว่าเป็นการสนับสนุนการสร้างสรรค์ทางปัญญา และตระหนักถึงความเป็นธรรมตามธรรมชาติของบุคคล ในเวลาต่อมาการคุ้มครองถูกปรับขยายขึ้นโดยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติ เพื่อให้หลุดรอดจากการกระทำโดยฝ่ายเดียวที่กำหนดโดยประเทศคู่ค้า ในที่สุดการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาก็ถูกยกขึ้นไปสู่ระดับระหว่างประเทศโดยสมบูรณ์เมือ่ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ วัตถุประสงค์ของการคุ้มครองในขั้นนี้ไม่ใช่มีเพียงเพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างสรรค์ทางปัญญาและปกป้องผลประโยชน์ของบุคคลอีกต่อไป แต่ยังเพื่อทำให้เศรษฐกิจของชาติมั่นคงขึ้นซึ่งการนี้ผู้ที่ถูกกระทบไม่ใช่เป็นเพียงบุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่คือประเทศชาติโดยรวมนั้นเอง

ประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา 

ตั้งแต่ความตกลง TIRPs ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากประชาคมโลก ประเภท
ของทรัพย์สินทางปัญญาก็ต้องหลากหลายไปตามความตกลง TIRPs ส่วนที่ 2 ของความตกลง TIRPs ซึ่งมีชื่อว่า "มาตรฐานเกี่ยวกับการมี ขอบเขต และการใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา" จำแนกทรัพย์สินทางปัญญาออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้

ลิขสิทธิ์ และสิทธิเกี่ยวเนื่อง
เครื่องหมายการค้า
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
การออกแบบอุตสาหกรรม
สิทธิบัตร
การออกแบบผังภูมิ (ภูมิสภาพ) ของวงจรรวม



ที่มา: กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

การป้องกันการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่เพิ่งเป็นประเด็นแต่อย่างใด โดยเฉพาะในต่างประเทศอย่าง กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของอังกฤษ หรือ สหรัฐอเมริกามีอายุร่วมร้อยปีมาแล้ว เมื่อมาถึงยุคอินเทอร์เน็ต ปัญหาการละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์, สิทธิบัตร, เครื่องหมายการค้า (ส่วนใหญ่ในกรณีพิพาทเรื่องโดเมนเนม) หรือ ความลับทางการค้า ก็ตามที ดูเหมือนจะกลับมาเป็นปัญหาให้เจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และนักกฎหมายต้องมาขบคิดกันอีกครั้งว่า มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ปรับใช้ หรือให้ความคุ้มครองเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตได้เพียงพอหรือไม่

ประเด็นหลักที่จะพิจารณาในเรื่องการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต มีดังต่อไปนี้

เหตุผลในการมีมาตรการพิเศษในการป้องกันลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต
ข้อพิจารณามาตรการป้องกันทางกฎหมาย
มาตรการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ทางเทคนิค กฎหมายที่ใช้การพิจารณาประเด็นข้างต้น เป็นกฎหมายของสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ เหตุผลในการมีมาตรการพิเศษในการป้องกันลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต  เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทำให้การผลิตงานพิมพ์ งานเขียนเป็นไปได้เร็วขึ้น เพียงแต่กดปุ่ม ทำซ้ำ "copy" หรือ ใช้วิธีตัดแปะ "cut and paste" ผลงานที่เกิดจากการทำซ้ำ โดยคอมพิวเตอร์นั้นเหมือนงานต้นฉบับมาก เกือบจะไม่มีความแตกต่างกับต้นฉบับเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันราคาถูกลงมาก ประชาชนในฐานะปานกลางสามารถหาซื้อมาใช้ได้ นี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กังวลใจเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะในกรณีที่ ผลงานสร้างสรรค์ถูกจัดเก็บในรูปอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Digital Form อาจมีความเสี่ยงที่จะถูกลักลอบ นำไปทำซ้ำได้ง่าย

เหตุผลข้างต้นก็เป็นที่มาของมาตรการพิเศษทางกฎหมาย และทางเทคนิค ที่ต้องการจะปกป้องสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งเผยแพร่งานของตนทางอินเทอร์เน็ต หรือ จัดเก็บงานของตนในรูปดิจิตอล มิให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของสิทธิดังกล่าว ในสหรัฐอเมริกา มีมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง 4 เรื่องหลัก ดังนี้

1. The No Electronic Theft Act 1996 (the NET Act)
2. Digital Millennium Copyright Act 1998 (DMCA)
3. Anti- Circumvention and Anti-Trafficking Rules เป็นมาตรการหนึ่งใน DMCA
4. Copyright Management Information Rules (CMI) เป็นส่วนหนึ่งของ DMCA
The No Electronic Theft Act 1996 (the NET Act)

การจำกัดความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISPs)
DMCA มิได้ยกเว้นความรับผิดให้แก่ ISPs ทั้งหมด ISPs จะได้รับความคุ้มครองตามข้อจำกัดความรับผิดตามกฎหมายดังกล่าว ก็ต่อเมื่อได้กระทำการป้องกันสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่า ลูกค้าของ ISPs นำงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เสนอ หรือติดในระบบที่ดำเนินการโดย ISPs ซึ่ง ISPs มิได้รู้ว่า ข้อความหรืองานที่นำเสนอนั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ กล่าวโดยทั่วไป ตาม DMCA แล้ว ISPs เช่นว่านั้น หามีความรับผิดไม่

อย่างไรก็ตาม หากว่า ISPs ได้รับการแจ้งการละเมิดลิขสิทธิ์ ISPsจะต้องรีบทำการยกเลิก หรือ ป้องกันมิให้มีการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกกล่าวหา นอกจากนั้นเจ้าของลิขสิทธิ์ ยังสามารถขอหมายศาล เพื่อให้ ISPs เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าของ ISPs ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำการอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ มาตรการดังกล่าวช่วยให้ เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถดำเนินคดีกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ตัวจริง ทั้งนี้ยังเป็นการป้องกันมิให้ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จากการอาศัยการเป็นบุคคลนิรนามในการทำความผิด

มาตรการการแจ้งและการลบ (Notice and Taking down Approach) ข้อความที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นงานอันละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ได้มีกำหนดอยู่ในกฎหมายของประเทศอื่น ๆ นอกจาก DMCA ของสหรัฐอเมริกา หากท่านผู้อ่านสนใจในรายละเอียด โปรดพิจารณา มาตรา 4 ของ the European Directive on E-commerce focuses on Liability of intermediary service providers

การจัดการกับข้อมูลอันมีลิขสิทธิ์ (Copyright Management Information)
การจัดการกับข้อมูลอันมีลิขสิทธิ์นี้ ถูกบัญญัติไว้ใน Chapter 12 ของ DMCA ข้อเท็จจริงปรากฎว่าคณะร่างบทบัญญัติดังกล่าวนี้ ได้ทำการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีหลายประเภท ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันงานสร้างสรรค์ ที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้นว่า เทคนิคการเข้ารหัส (encryption techniques) เพื่อทำการผสมข้อมูล (scrambling) ของงานที่มีลิขสิทธิ์ เช่น ภาพดิจิตอล, เพลง หรือ ซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ เทคนิคดังกล่าวจะอนุญาตให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้งานอันมีลิขสิทธิ์เท่านั้น จึงจะสามารถถอดรหัสได้ การเข้ารหัสดังกล่าวยังเป็นการทำให้แน่ใจได้ว่า ข้อมูลของงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวได้รับการรักษาความปลอดภัยจากผู้ที่พยายามเข้าถึงระบบ หรือ แฮคเอาข้อมูลไป ในระหว่างที่ข้อมูลถูกส่งจากเครือข่ายหนึ่งไปสู่อีกเครือข่ายหนึ่งทางอินเทอร์เน็ต

นอกจากนั้นยังมีการใช้เทคนิคควบคุมการเข้าถึงได้ (access controls) ระบบนี้อนุญาตให้ใครก็ตาม สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ หากแต่มีการฝัง (embed) ข้อมูลพิเศษไว้ในข้อมูลนั้นๆ เป็นต้นว่า ลายเซ็นดิจิตอล ใช้ในการพิสูจน์ความแท้จริงของข้อมูล หรือ ไฟล์ ว่าเป็นงานที่ส่งมาจากผู้ส่งที่แท้จริงหรือไม่ และมิได้ถูกเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีการทดสอบการใช้ "ซองจดหมายอิเล็กทรอนิกส์" (electronic envelops) ซึ่งบรรจุข้อมูลเกี่ยวกับผู้สร้างสรรค์, ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์, วันที่สร้างสรรค์งาน, และ

 ข้อกำหนดและเงื่อนไขสำหรับการอนุญาตให้ใช้ ระบบป้องกันที่คล้ายกันอีกประเภท ก็เช่น การใช้ digital "watermarking" ซึ่งทำเป็นไฟล์พิเศษติดไปกับงานสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ว่าจะมีการพยายามทำซ้ำอย่างไร watermarks นี้ก็ไม่สามารถแยกออกจากงานดังกล่าวได้ วิธีนี้ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถใช้ระบบการค้นหาที่เรียกว่า spiders หรือ robots ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของเซิร์ชเอนจิน (search engines) ในการค้นหางานของตนที่ถูก นำไปใช้ หรือทำซ้ำโดยมิได้รับอนุญาตได้ เพราะ spiders หรือ robots จะวิ่งไปหาข้อมูลที่มี watermarks ฝังอยู่

จะเห็นได้บทบัญญัติการจัดการกับข้อมูลอันมีลิขสิทธิ์ข้างต้น กฎหมายมีเจตนารมย์ที่จะให้ความคุ้มครอง มาตรการทางเทคโนโลยี ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ใช้ในการปกป้องสิทธิของตัวเอง ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าว มิได้เป็นการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ในรูปแบบที่เพิ่มเติมพิเศษของงานสร้างสรรค์แต่อย่างใด DMCA เพียงแต่ทำให้ ความพยายามที่จะเจาะระบบป้องกันการทำซ้ำงานสร้างสรรค์กลายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การละเมิดบทบัญญัติเช่นว่านี้ มีกำหนดโทษขั้นสูงทั้งในทางแพ่งและทางอาญา ค่าปรับสูงถึง $500,000 และจำคุกสูงสุด ห้าปีสำหรับการกระทำผิดครั้งแรก

โดยรวมเราจะเห็นว่ามาตรการการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานที่เผยแพร่ทางกฎหมายนั้น ต้องมีทั้งมาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวด และมาตรการทางเทคนิคที่ประสิทธิภาพ ในการจัดการกับผู้กระทำผิด ในยุคดิจิตอล ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษ ก็คือ ในกรณีที่สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อสนับสนุนการใช้มาตรการทางเทคนิคให้สัมฤทธิ์ผลในการป้องกันการลักลอบใช้ หรือลักลอบทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งวิธีนี้น่าจะเป็นแนวทางที่หลายประเทศกำลังเดินตาม



ขอขอบคุณ  www.geocities.com  ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลสาธารณะ
ที่มา : http://www.decha.com/main/showTopic.php?id=2123

กฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสะท้อนถึงธรรมาภิบาลและความเป็นประชาธิปไตยของประเทศหรือองค์กรนั้นๆ เพราะผู้ปกครองที่เปิดใจกว้างยอมรับฟังความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน หรือคนในองค์กรทั้งด้านบวกและด้านลบแล้ว ย่อมเป็นโอกาสในการนำไปปรับปรุงประเทศ องค์กร และตนเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 45  "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน" มาตรา 56 "บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ..." มาตรา 57 "บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ...และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว..." รวมถึงขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน อาทิ "บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก"
หน่วยงานภาครัฐ และนักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการถือเป็นบุคคลสาธารณะ (Public figure) กล่าวคือเป็นบุคคลที่ให้บริการสาธารณะหรือเกี่ยวข้องกับประชาชนในฐานะที่เป็นข้าราชการประจำ เช่น ข้าราชการฝ่ายปกครอง ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการครู หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สังกัดส่วนราชการต่างๆ เพราะนโยบายหรือการปฏิบัติงานของเขากระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนโดยทั่วไป การเป็นองค์กรและบุคคลสาธารณะประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์โดยชอบตามขอบเขตที่กฎหมายกำหนด และหน่วยงาน/บุคคลก็มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะชี้แจงให้ผู้แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์นั้นรับทราบข้อเท็จจริงตามที่เห็นสมควร

แต่การแสดงความคิดเห็นใดๆ ก็พึงระวังให้การแสดงความเห็นเป็นไปโดยชอบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยคำนึงว่าความคิดเห็น ที่แสดงออกไปนั้น โดยเฉพาะที่แสดงผ่านทางเว็บไซต์ควรงดเว้น การใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพและตระหนักถึงบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้

(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน

(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1 หรือ (4)
โทษ: ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 15 ผู้ให้บริการใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน

โทษ : ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14 (เหตุผล - ผู้ให้บริการในที่นี้มุ่งประสงค์ถึงเจ้าของเว็บไซต์ ซึ่งมีการพิจารณาว่าควรต้องมีหน้าที่ลบเนื้อหาอันไม่เหมาะสมด้วย)

ดังนั้น การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางเว็บไซต์จะต้องคำนึงถึงประเด็นดังกล่าวข้างต้นด้วย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเผยแพร่ นอกจากดูเรื่องกฏหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ยังต้องดูเรื่องของกฎหมายอื่นประกอบด้วย เช่นในเรื่องการละเมิด ถึงบุคคลที่สาม หรือกฏหมายเกี่ยวกับการนำเสนอสื่อในระบบสารสนเทศ หรือกฏหมายอินเตอร์เน็ต ซึ่งต้องระมัดระวัง กล่าวคือ บางกรณีอาจจะไปเข้าหลักเกณฑ์ในกฏหมายลูกบางฉบับ เพราะการเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต โอกาสที่บุคคลที่ถูกพาดพิง หรือกล่าวหาจะมาแก้ต่างนั้นลำบาก หรือแม้แต่จะสามารถหาต้นตอของการโพสหรือเผยข้อมูลได้ก็ต้องใช้เวลา แม้ว่าการลบ หรือไม่ลบจะขึ้นอยู่ในการตัดสินใจของผู้ดูแลก็ตาม และแม้ผู้ที่ถูกพาดพิงจะสามารถแก้ไขข้อกล่าวหาได้ก็ตาม ทำให้เรื่องแบบนี้ค่อนข้างบอบบางในมุมมองทางกฏหมาย
อย่างไรก็ตามเพื่อให้มั่นใจว่าทุกความเห็นจะได้รับการคุ้มครองตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน จึงขอความร่วมมือให้ผู้ที่แสดงความเห็นทุกท่าน โปรด "ระบุชื่อ-นามสกุลจริง" ไว้ในการแสดงความเห็นทุกครั้ง

และหากมีเหตุให้ต้องลบความเห็นใดๆ ในเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐ จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 (โดยบันทึกเหตุผลของการลบนั้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร) ซึ่งมีใจความสำคัญโดยสรุปว่า "การสั่งราชการโดยปกติให้กระทำเป็นลายลักษณ์อักษร เว้นแต่ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชามีความจำเป็นที่ไม่อาจสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรในขณะนั้น จะสั่งราชการด้วยวาจาก็ได้ แต่ให้ผู้รับคำสั่งนั้นบันทึกคำสั่งด้วยวาจาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและเมื่อได้ปฏิบัติราชการตามคำสั่งดังกล่าวแล้วให้บันทึกรายงานให้ผู้สั่งราชการทราบ ในบันทึกให้อ้างอิงคำสั่งด้วยวาจาไว้ด้วย...(ผู้ใต้บังคับบัญชา) ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ โดยไม่ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง แต่ถ้าเห็นว่าการปฏิบัติตามคำสั่งนั้นจะทำให้เสียหายแก่ราชการ หรือจะเป็นการไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการจะต้องเสนอความเห็นเป็นหนังสือทันที เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งนั้น และเมื่อได้เสนอความเห็นแล้ว ถ้าผู้บังคับบัญชายืนยันให้ปฏิบัติ ตามคำสั่งเดิม ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตาม" เพราะหากพิสูจน์ได้ว่าการที่เจ้าหน้าที่รัฐลบความเห็นที่ชอบด้วยกฎหมายของประชาชนที่ส่งเข้ามาทางเว็บไซต์ อาจเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความเห็น อันเป็นเสรีภาพที่ได้รับรองไว้อย่างชัดแจ้งโดยรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน การกระทำดังกล่าวอาจนำไปสู่ความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา หมวด 2 เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และ/หรือกฎหมายอื่นใดที่บัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดอันเกี่ยวเนื่องกับการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน

ดังนั้น การปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน จึงเป็นสิ่งที่เราควรช่วยกันปกป้อง ดังที่มีผู้กล่าวว่า ..."คนที่กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง เราควรจะสนับสนุน ไม่อย่างนั้นประเทศชาติจะเดินไปได้อย่างไร อีกหน่อยใครจะออกมาทักท้วงอะไร ก็ต้องคิดแล้วคิดอีกเป็นร้อยรอบเพราะเดี๋ยวคนโน้นคนนี้ก็จะมาตำหนิ สู้อยู่เฉยๆ ไม่ดีกว่าหรือ ขอให้คนที่วิจารณ์ในทางลบช่วยมีวิจารณญาณแยกแยะด้วย .."




(ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน)