วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสะท้อนถึงธรรมาภิบาลและความเป็นประชาธิปไตยของประเทศหรือองค์กรนั้นๆ เพราะผู้ปกครองที่เปิดใจกว้างยอมรับฟังความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน หรือคนในองค์กรทั้งด้านบวกและด้านลบแล้ว ย่อมเป็นโอกาสในการนำไปปรับปรุงประเทศ องค์กร และตนเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 45  "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน" มาตรา 56 "บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ..." มาตรา 57 "บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ...และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว..." รวมถึงขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน อาทิ "บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก"
หน่วยงานภาครัฐ และนักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการถือเป็นบุคคลสาธารณะ (Public figure) กล่าวคือเป็นบุคคลที่ให้บริการสาธารณะหรือเกี่ยวข้องกับประชาชนในฐานะที่เป็นข้าราชการประจำ เช่น ข้าราชการฝ่ายปกครอง ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการครู หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สังกัดส่วนราชการต่างๆ เพราะนโยบายหรือการปฏิบัติงานของเขากระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนโดยทั่วไป การเป็นองค์กรและบุคคลสาธารณะประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์โดยชอบตามขอบเขตที่กฎหมายกำหนด และหน่วยงาน/บุคคลก็มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะชี้แจงให้ผู้แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์นั้นรับทราบข้อเท็จจริงตามที่เห็นสมควร

แต่การแสดงความคิดเห็นใดๆ ก็พึงระวังให้การแสดงความเห็นเป็นไปโดยชอบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยคำนึงว่าความคิดเห็น ที่แสดงออกไปนั้น โดยเฉพาะที่แสดงผ่านทางเว็บไซต์ควรงดเว้น การใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพและตระหนักถึงบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้

(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน

(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1 หรือ (4)
โทษ: ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 15 ผู้ให้บริการใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน

โทษ : ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14 (เหตุผล - ผู้ให้บริการในที่นี้มุ่งประสงค์ถึงเจ้าของเว็บไซต์ ซึ่งมีการพิจารณาว่าควรต้องมีหน้าที่ลบเนื้อหาอันไม่เหมาะสมด้วย)

ดังนั้น การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางเว็บไซต์จะต้องคำนึงถึงประเด็นดังกล่าวข้างต้นด้วย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเผยแพร่ นอกจากดูเรื่องกฏหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ยังต้องดูเรื่องของกฎหมายอื่นประกอบด้วย เช่นในเรื่องการละเมิด ถึงบุคคลที่สาม หรือกฏหมายเกี่ยวกับการนำเสนอสื่อในระบบสารสนเทศ หรือกฏหมายอินเตอร์เน็ต ซึ่งต้องระมัดระวัง กล่าวคือ บางกรณีอาจจะไปเข้าหลักเกณฑ์ในกฏหมายลูกบางฉบับ เพราะการเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต โอกาสที่บุคคลที่ถูกพาดพิง หรือกล่าวหาจะมาแก้ต่างนั้นลำบาก หรือแม้แต่จะสามารถหาต้นตอของการโพสหรือเผยข้อมูลได้ก็ต้องใช้เวลา แม้ว่าการลบ หรือไม่ลบจะขึ้นอยู่ในการตัดสินใจของผู้ดูแลก็ตาม และแม้ผู้ที่ถูกพาดพิงจะสามารถแก้ไขข้อกล่าวหาได้ก็ตาม ทำให้เรื่องแบบนี้ค่อนข้างบอบบางในมุมมองทางกฏหมาย
อย่างไรก็ตามเพื่อให้มั่นใจว่าทุกความเห็นจะได้รับการคุ้มครองตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน จึงขอความร่วมมือให้ผู้ที่แสดงความเห็นทุกท่าน โปรด "ระบุชื่อ-นามสกุลจริง" ไว้ในการแสดงความเห็นทุกครั้ง

และหากมีเหตุให้ต้องลบความเห็นใดๆ ในเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐ จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 (โดยบันทึกเหตุผลของการลบนั้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร) ซึ่งมีใจความสำคัญโดยสรุปว่า "การสั่งราชการโดยปกติให้กระทำเป็นลายลักษณ์อักษร เว้นแต่ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชามีความจำเป็นที่ไม่อาจสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรในขณะนั้น จะสั่งราชการด้วยวาจาก็ได้ แต่ให้ผู้รับคำสั่งนั้นบันทึกคำสั่งด้วยวาจาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและเมื่อได้ปฏิบัติราชการตามคำสั่งดังกล่าวแล้วให้บันทึกรายงานให้ผู้สั่งราชการทราบ ในบันทึกให้อ้างอิงคำสั่งด้วยวาจาไว้ด้วย...(ผู้ใต้บังคับบัญชา) ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ โดยไม่ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง แต่ถ้าเห็นว่าการปฏิบัติตามคำสั่งนั้นจะทำให้เสียหายแก่ราชการ หรือจะเป็นการไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการจะต้องเสนอความเห็นเป็นหนังสือทันที เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งนั้น และเมื่อได้เสนอความเห็นแล้ว ถ้าผู้บังคับบัญชายืนยันให้ปฏิบัติ ตามคำสั่งเดิม ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตาม" เพราะหากพิสูจน์ได้ว่าการที่เจ้าหน้าที่รัฐลบความเห็นที่ชอบด้วยกฎหมายของประชาชนที่ส่งเข้ามาทางเว็บไซต์ อาจเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความเห็น อันเป็นเสรีภาพที่ได้รับรองไว้อย่างชัดแจ้งโดยรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน การกระทำดังกล่าวอาจนำไปสู่ความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา หมวด 2 เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และ/หรือกฎหมายอื่นใดที่บัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดอันเกี่ยวเนื่องกับการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน

ดังนั้น การปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน จึงเป็นสิ่งที่เราควรช่วยกันปกป้อง ดังที่มีผู้กล่าวว่า ..."คนที่กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง เราควรจะสนับสนุน ไม่อย่างนั้นประเทศชาติจะเดินไปได้อย่างไร อีกหน่อยใครจะออกมาทักท้วงอะไร ก็ต้องคิดแล้วคิดอีกเป็นร้อยรอบเพราะเดี๋ยวคนโน้นคนนี้ก็จะมาตำหนิ สู้อยู่เฉยๆ ไม่ดีกว่าหรือ ขอให้คนที่วิจารณ์ในทางลบช่วยมีวิจารณญาณแยกแยะด้วย .."




(ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น